หม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธร จุฑาธุช (10 สิงหาคม พ.ศ. 2450 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2523 ) มีพระนามเดิมคือ หม่อมเจ้าหญิงจิรบุญญินี ชุมพล เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ประสูติแต่หม่อมบุญยืน ชุมพล ณ อยุธยา (อัญญานางบุญยืน บุญรมย์) บุตรีในท้าวไชยบุตร์ (บุดดี บุญรมย์) และอัญญาแม่คำพ่วย บุญรมย์ มีศักดิ์เป็นหลานเจ้าราชบุตรสุ่ย สืบเชื้อสายมาแต่เจ้าพระวอพระตาแห่งเมืองหนองบัวลุ่มภู ประสูติ ณ วังสงัด (บริเวณสามแยกถนนผาแดงบรรจบกับถนนพโลรังฤทธิ์ ทิศเหนือทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี) ครั้นเสด็จเข้ามาประทับในกรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเปลี่ยนพระราชทานนามให้ใหม่ว่า "บุญจิราธร" ในเวลาที่ทรงพระมหากรุณาเปลี่ยนนามใหม่พระราชทานนั้น ได้ทรงแสดงพระราชจริยาให้ประจักษ์ว่า ไม่ได้เพ่งเล็งแต่จะให้เพราะ ได้ทรงเรียกปฏิทินมาตรวจอย่างถี่ถ้วนแล้ว จึงตกลงพระราชทานนามว่า "บุญจิราธร"
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ ในรัชกาลที่ 5 บันทึกเอาไว้ว่า ท่านหญิงบุญจิราธรนี้เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศรัยในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมาแต่ต้น ซึ่งเรียกตามประสาสามัญชนได้ว่าชะตาต้องกัน ดูได้จากทรงแสดงพระอิริยาบถต่อท่านว่า ทรงเอ็นดูถึงลูบห้วตบหลังบ่อย ผิดกว่าเจ้านายรุ่นเดียวกันในขณะนั้น ถึงแม้ว่าจะได้รับพระราชทานนามใหม่จากหม่อมเจ้าหญิงจิรบุญมี เป็นหม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธรแล้วก็มักจะเรียกกันว่า "ท่านหญิงลาว"ซึ่งทำให้น่าเอ็นดูเพิ่มขึ้นด้วย ซ้ำมีอยู่องค์เดียว เจ้านายจึงโปรดกันมากทั้งนั้น
ท่านหญิงเริ่มจะเข้ามาอยู่ในวังเมื่องานรัชมังคลาภิเษก เสด็จในกรมพระบิดาต้องเสด็จเข้ามาจากอุบล ฯ เนื่องในงานนั้นท่านหญิงจึงตามเสด็จพระบิดามาในงานนั้นด้วย ในเวลานั้นท่านหญิงน่ารักน่าเอ็นดูเสียจริงๆ เสด็จในกรมพระบิดาทรงเป็นผู้สนพระทัยในการแต่งกายของผู้หญิง ท่านช่างแต่งตัวสวยงามและแปลกตาผู้พบเห็น สมัยนั้นสตรีบรรดาศักดิ์ นอกจากเจ้าน้อยดารารัศมี (พระราชชายา) แล้ว ก็ไม่มีใครนุ่งถุง (ผ้าซิ่น) มีแต่ก๊กในกรมนี้แห่งเดียว ทรงช่างแต่งประทานลูกเมียท่านทุกคน บนเกศาก็ประดับดอกไม้สดบ้าง ดอกไม้ทองประกอบลูกปัดขาว เช่นทำเป็นดอกเกศเมือง งามน่าเอ็นดูมาก ผ้าถุงไหมเชิงทองเวลานั้นยังไม่มีใครแต่งวิธีนุ่งก็ยาวถึงข้อเท้าแบบแต่งราตรีสมัยนี้ ท่านใช้แพรหรือลูกไม้กว้าง ๆแต่พันเข้ารูปเป็นเสื้อเสร็จในตัว ไม่ต้องตัดเป็นชิ้นเป็นตะเข็บ เมื่อเสร็จแล้วดูงามมาก แต่จะต้องเป็นทรงในแบบเสื้อแจคเก็ต (jacket) ที่ไม่มีชายเอวคลุมนอกผ้าถุง แต่ให้กลายเป็นชายห้อยเข้าที
ท่านหญิงทรงศึกษาชั้นประถมต้นมาจากเมืองอุบลราชธานี ต่อมาทรงถวายตัวกับพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา กับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา (สมเด็จหญิงพระองค์กลาง) ก็ทรงเริ่มเร่งรัดการศึกษาจนจบหลักสูตรมัธยม 6 ของโรงเรียนราชินีสมัยนั้นท่านหญิงโปรดวิชาวาดเขียนเป็นพิเศษ อันมีเค้าเงื่อนมาแต่ทรงพระเยาว์จนสมเด็จหญิงพระองค์กลางทรงสังเกตได้แน่ว่าท่านหญิงจะเป็นช่างเขียน มีเรื่องอยู่ว่า วันหนึ่งท่านหญิงขึ้นเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชกระแสรับสั่งถามสมเด็จหญิงพระองค์กลางว่าท่านหญิงมีนิสัยอย่างไร สมเด็จหญิงพระองค์กลางกราบบังคมทูลว่า ชอบวาดเขียน จึงมีพระราชดำรัสว่าดี ขอให้ช่วยสนับสนุน ท่านหญิงนอกจากจะสนพระทัยในการวาดเขียนแล้ว ยังเป็นผู้โปรดสิ่งสวยงามต่าง ๆ ทั้งของธรรมชาติและของประดิษฐ์ พระเนตรและพระหัตถ์มีศิลปเท่าๆ กัน
หม่อมเจ้าบุญจิราธร จุฑาธุช เษกสมรสกับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย โอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2465 เป็นสะใภ้หลวงชั้นเอก คือเป็นพระชายาของสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระบรมราชินีนาถบรมราชชนนีพระพันปีหลวง โดยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมี พระมหากรุณาเป็นพระราชธุระสู่ขอท่านหญิงต่อพระบิดา แล้วพระราชทานพระมหากรุณาทรงทำพระราชพิธีหมั้น และอภิเษกสมรสพระราชทานอย่างเต็มพระเกียรติ แล้วพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าด้วย
เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ลดาวัลย์ ในรัชกาลที่ 5 บันทึกเอาไว้ว่า ผู้เขียนเป็นโรคชอบชื่นชมคนแต่งตัวสวย ๆ แปลก ๆ จึงต้องขอกล่าวถึงการแต่งองค์ท่านหญิงในแบบทูลกระหม่อมฟ้าติ๋ว ทรงออกแบบในวันพิธีหมั้นอย่างละเอียดสักหน่อย เวลานั้นสมเด็จหญิงพระองค์กลางยังมีพระชนม์อยู่ ท่านหญิงแต่งองค์ที่ตำหนักเล็กในสวนสุนันทา ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จหญิงพระองค์กลางและท่านหญิงอยู่ด้วยกัน ทูลกระหม่อมฟ้าติ๋วเสด็จมาทรงแต่งประทานด้วยพระองค์เอง ฉลองพระองค์เย็บสำเร็จรูปมาจากวังเพ็ชรบูรณ์ด้วยฝีมือของคุณท้วน บุนนาค เป็นผู้ตัดเย็บตามพระบัญชาของทูลกระหม่อม แบบของทูลกระหม่อมโปรดทรงใช้แพรไม่บางนักเกลี้ยง ๆ เนื้อทิ้ง ๆ สะบัดพลิ้ว เย็บเป็นเสื้อ แล้วแต่งแพรอีก 2 สีเย็บซ้อนกัน ใช้ตะเข็บเข้าถ้ำอย่างเย็บถลกบาตรพระให้แลเห็นทั้งสองหน้า แล้วพันองค์โอบชายไปเบื้องซ้าย ปล่อยทิ้งชายยาวถึงลากไปกับพื้น ส่วนเบื้องล่างก็ใช้ถุง (ผ้าซิ่น) ไหมเชิงทองเมืองอุบล?ฯ รวมแล้วไม่แพ้ซิ่นของเสด็จในกรมตามที่กล่าวมาแล้ว
เมื่อท่านหญิงได้รับพระราชทานพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกอบพืธีอภิเษกสมรสแล้ว ก็เสด็จไปอยู่วังเพชรบูรที่ตำหนักตึกด้านวัดสระปทุม ในวังนั้นทูลกระหม่อมทรงสร้างที่ประทับต่าง ๆเป็นการชั่วคราว มีหลายตำหนักที่เป็นไม้ ทรงตั้งชื่อตำหนักเหล่านั้นว่าตำหนักปฐม เรือนลมพัดชายเขา เป็นต้น ส่วนพระตำหนักใหญ่อย่างถาวรสำหรับเฉลิมพระเกียรตินั้น กำลังตั้งต้นสร้าง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอาณาบริเวณวังเพ็ชรบูรณ์ ให้ติดกับสระใหญ่ คือตรงด้านหลังของกรมตำรวจปัจจุบันนี้ ซึ่งเพิ่งจะลงรากพื้นล่างยังไม่เสร็จ ทูลกระหม่อมก็เสด็จสิ้นพระชนม์เสีย และเมื่อเสด็จพระองค์บุษบันบัวผันพระอภิบาลของทูลกระหม่อมซึ่งได้เสด็จออกมาประทับอยู่ที่ตำหนักปฐม เสด็จเข้าไปประทับในพระบรมมหาราชวังแล้ว ท่านหญิงจึงมาประทับอยู่ที่ตำหนักนั้น แต่เมื่อท่านหญิงมีพระชันษาล่วงเข้ามัชฌิมวัยแล้ว ก็มีพระราชประสงค์ความสุขในเรื่องของหญิงผู้ใหญ่ทั่ว ๆ ไป คือต้องมีห้องเก็บสัมภาระรุงรังต่าง ๆ เป็นต้น ท่านจึงต่อตำหนักอีกหลังหนึ่งเชื่อมเข้าให้ได้ระดับเดียวกันกับตำหนักปฐม คือเป็นที่ประทับตลอดมา
เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ลดาวัลย์ ในรัชกาลที่ 5 บันทึกเอาไว้ว่า ถ้าจะพูดเรื่องน้ำใสใจคอที่แท้จริง ท่านหญิงเป็นผู้ที่ถี่เหนียวมาก ไม่มีคำว่าสุรุ่ยสุร่าย ใจคอกว้างขวางตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ซึ่งท่านออกโอษฐ์ว่าสุภาษิตข้อที่ว่า ขายผ้าเอาหน้ารอดนั้นท่านไม่ใช้เลย ท่านทรงใช้เงินอยู่ในขอบเขตแต่ในสิ่งจำเป็นและควรกระทำ ในเรื่องการตั้งองค์วางองค์ ท่านหญิงตั้งองค์เหมาะสมพอดี เข้าใครเข้าได้ทุกชั้นทุกวัย ไม่ทรงสมาคมอยู่แต่ในกรอบชั้นสูงเป็นพระเกียรติแต่อย่างเดียวแต่ทรงแสดงพระมารยาทได้กว้างขวางในสังคมทั่วไป ไม่เคยได้ยินคำครหานินทาถึงพระมารยาทท่านหญิงเลย
อนึ่งมีข้อความจะงดเว้นไม่กล่าวเสียไม่ได้อีกข้อหนึ่ง ตามที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ข้างบนนี้ ว่าท่านหญิงเข้าใครเข้าได้ทุกเพศทุกวัยและทุกชั้น นั่นขอต่อว่าข้าพเจ้านิยมน่าเอ็นดูท่านในเวลาที่ท่านรับแขกคนเฝ้าที่เป็นชาวพื้นเมืองอุบล ฯ ท่านจะต้องใช้สำนวนสำเนียงของชาวเมืองนั้นอย่างคล่องแคล่วไม่ขัดเขิน แล้วท่านก็แปลเป็นภาษากรุงเทพ ฯ ให้เราฟังอีกทีเมื่อท่านรับสั่งพื้นเมืองฟังเหมือนกับผู้ที่มาเฝ้าไม่ผิดเพี้ยน ไม่แปร่งปร่าเลย ผู้ที่มาเฝ้าก็ดูปลาบปลื้มที่ท่านหญิงสนทนาด้วยภาษาเดียวกัน ดูถึงอกถึงใจ นี้เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้านิยม แบบนี้ได้เคยเห็นพระราชชายาเจ้าดารารัศมีก็ทรงปฏิบัติอย่างนี้ แต่พระกระแสเสียงพระราชชายาท่านแปร่งในภาษากรุงเทพฯ ท่านหญิงไม่แปร่งทั้งสองฝ่ายในเวลาที่ใช้เสียงกลับไปกลับมาในทันทีทันใด
หม่อมเจ้าบุญจิราธร จุฑาธุช สิ้นชีพิตักษัยเมื่อ 19 มีนาคม 2523 สิริพระชนมายุ 83 ชันษา พระองค์ไม่มีโอรสและธิดา
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/หม่อมเจ้าบุญจิราธร_จุฑาธุช